กิจกรรม มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ช่วยเกษตรกร เกษตรกรช่วยผู้บริโภค (KU USR)
สำนักส่งเสริมและฝึกอบรม กำแพงแสน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ดำเนินกิจกรรมต้นแบบที่ผสมผสานระหว่างจัดจำหน่ายสินค้าเกษตร กับการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และสร้างเครือข่ายร่วมกันของกลุ่มอาชีพ สถาบันเกษตร ครูอาชีพ และประชาชนทั่วไป ไม่เพียงช่วยเหลือเกษตรกร ในด้านการสร้างรายได้ยังช่วยให้ผู้บริโภคเข้าถึงสินค้าที่มีคุณภาพในราคาที่เป็นธรรมจากผู้ผลิต เป็นช่องทางในการฝึกทักษะและให้องค์ความรู้นวัตกรรมและคำปรึกษา
การพัฒนาสินค้าเกษตร การแปรรูป การบรรจุภัณฑ์ที่สอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภคในยุคชีวิตวิถีใหม่ (New Normal) ปี 2563-2566 จัดกิจกรรมอย่างต่อเนื่องมาถึงครั้งที่ 122 ผลจากการจัดกิจกรรม เดือนมกราคม 2565 – เดือนกันยายน 2565 มีการดำเนินงานมาแล้วจำนวนทั้งสิ้น 74 ครั้ง มีรายรับจากการดำเนินกิจกรรมรวมทั้งสิ้น 3,534,201 บาท มีผู้รับบริการรวมทั้งสิ้น 11,017 คน มีเกษตรกร กลุ่มเกษตรกรที่เข้าร่วมกิจกรรมทั้งสิ้น 16 ราย ซึ่งกระจายในพื้นที่กว่า 10 ชุมชน นอกจากนี้เกษตรกร กลุ่มเกษตรกรที่เข้าร่วมกิจกรรมดังกล่าวสามารถขยายช่องทางการตลาดได้เพิ่มมากขึ้น ทั้งการเข้าร่วมจำหน่ายสินค้าในโอกาสต่างๆ เช่น กิจกรรมการจำหน่ายสินค้าของเรือนเกษตรอภิรมย์ คณะเกษตร กำแพงแสน การทำสัญญาซื้อขายกับบริษัทเอกชนต่างๆ ทำให้สามารถจำหน่ายสินค้าได้เป็นจำนวนมากและมีรายการสั่งซื้อเข้ามาอย่างต่อเนื่องทั้งกลุ่มตลาดทั่วไป และกลุ่ม Modern Trade เป็นต้น
ผลลัพธ์ด้านชุมชน และสังคม เกิดเครือข่ายความร่วมมือทั้งในระดับเกษตรกร กลุ่มเกษตรกร หน่วยงานต่างๆ ทั้งด้านการแลกเปลี่ยนผลผลิตทางการเกษตรเพื่อต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ สำหรับจำหน่ายในโอกาสต่อไป อาทิ การนำผลผลิตกล้วยน้ำว้าจากชุมชนบ้านหนองไม้งาม ไปพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์กล้วยหนึบของกลุ่ม YSF การนำผลผลิตของกลุ่มเกษตรกรจากอำเภอห้วยกระเจา นอกจากนี้ยังเกิดการแลกเปลี่ยนวิธีการผลิต/การทำการเกษตรระหว่างกลุ่ม อาทิ การนำผักกูกจากกลุ่มวิสาหกิจชุมชนสวนปันสุข ต.ห้วยขวาง มาขยายปลูกให้แก่เกษตรกรในพื้นที่ชุมชนบ้านหนองไม้งาม ต.ทุ่งบัว เป็นต้น ส่งผลให้ชุมชนเกิดการพัฒนาการด้านการผลิตที่ตอบโจทย์อาหารปลอดภัยเพิ่มมากยิ่งขึ้น เนื่องจากการผลิตของเกษตรกร กลุ่มเกษตรกรที่เข้าร่วมกิจกรรมดังกล่าว ส่วนใหญ่ได้รับการรับรองมาตรฐานการผลิตทั้งในระบบ GAP และระบบ อินทรีย์ เป็นส่วนใหญ่ ซึ่งเป็นหนึ่งในเงื่อนไขตั้งแต่แรกของการเข้าร่วมกิจกรรมนี้
ผลลัพธ์ด้านเศรษฐกิจ เกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจระดับชุมชนในพื้นที่ดำเนินการของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และพื้นที่ใกล้เคียง ตามกลุ่มเป้าหมายที่กำหนดไว้ในพื้นที่ไข่แดง และไข่ขาว กว่า 20 ชุมชน เช่น ชุมชนในพื้นที่ตำบลทุ่งบัว ตำบลห้วยขวาง ตำบลห้วยม่วง ตำบลหนองงูเหลือม พื้นที่ชุมชนในเขตอำเภอนครชัยศรี นอกจากนี้ยังมีพื้นที่ขยายในการพัฒนาด้านการส่งเสริมการเกษตร เช่น กลุ่ม Start Up จากอำเภอสองพี่น้อง หรือกลุ่มเกษตรกรในพื้นที่อำเภอห้วยกระเจา ซึ่งเป็นการเปิดโอกาสให้เกษตรกร กลุ่มเกษตรกรนำผลผลิตทางการเกษตรที่ปลอดภัยเข้าร่วมจำหน่ายในกิจกรรมดังกล่าว เช่น ผลผลิตพืชผักปลอดภัยจากกลุ่มเกษตรกรตำบลทุ่งบัว ผลิตภัณฑ์แปรรูปจากมะพร้าวอินทรีย์เช่น น้ำมะพร้าวน้ำหอม มะพร้าวนมสด จากกลุ่มวิสาหกิจชุมชนสวนปันสุข ตำบลห้วยขวาง ผลผลิตมันเทศญี่ปุ่น เมล่อน จากกลุ่มเกษตรกรในพื้นที่อำเภอห้วยกระเจา จังหวัดกาญจนบุรี เป็นต้นนอกจากนี้ช่องทางการจำหน่ายยังขยายไปสู่ผู้บริโภคภายนอกที่ทราบข้อมูลของเกษตรกร กลุ่มเกษตรกรจากกิจกรรมต่างๆ ที่กลุ่มเข้าร่วม เช่น งานแถลงข่าวงานเกษตรกำแพงแสน การออกร้านจำหน่ายสินค้าในโอกาสต่างๆ ส่งผลให้เกิดการทำสัญญาซื้อขายสินค้าเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน โดยมีคำสั่งซื้อมันเทศญี่ปุ่นเฉลี่ยเดือนละ 7-10 ตัน ซึ่งหากสินค้าเกรดดี จะวางจำหน่ายที่ห้างแมรโคร Big-C และโลตัส แต่หากเป็นเกรดรองลงมาจะส่งจำหน่ายที่ตลาดไท เป็นต้น
ผลลัพธ์ด้านสิ่งแวดล้อม เกิดการปรับเปลี่ยนวิถีการผลิตเข้าสู่ระบบการผลิตแบบเกษตรปลอดภัยที่มีการใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุด เกิดความยั่งยืนทางการเกษตรและไม่ทำให้เกิดมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม โดยเกษตรกร กลุ่มเกษตรกรที่เข้าร่วมกิจกรรมมีการผลิตตามระบบ GAP อยู่ก่อนแล้วและเริ่มให้ความสนใจเรื่องการลดใช้สารเคมีในแปลงผลิตของตนเอง เนื่องจากส่วนใหญ่นั้นเริ่มมีอายุมากขึ้น ประกอบกับต้นทุนด้านการผลิตที่เพิ่มสูงขึ้นดังนั้นจึงมีการนำองค์ความรู้เรื่องการใช้เชื้อไตรโครเดอร์มาในแปลงปลูกพืชหลังน้ำท่วมไปถ่ายทอดให้แก่เกษตรกรในพื้นที่ที่ได้รับความเดือนร้อน เช่นเกษตรกรในพื้นที่ตำบลทุ่งบัว อำเภอกำแพงแสน จังหวัดนครปฐม เป็นต้น นอกจากนี้บางส่วนเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบมีการลงพื้นที่แปลงของเกษตรกรเพื่อเก็บข้อมูลการผลิตตลอดจนปัญหาและอุปสรรคที่เกิด เพื่อนำมาหาแนวทางการแก้ไขร่วมกันอีกครั้ง
สำนักส่งเสริมและฝึกอบรม กำแพงแสน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้ต่อยอดขยายผล กิจกรรม มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ช่วยเกษตรกร เกษตรกรช่วยผู้บริโภค (KU USR) ไปสู่ ตลาดนัด KU URS #สัญจร โดยบูรณาการความร่วมมือด้านบริการวิชาการระหว่างส่วนงานภายในวิทยาเขตกำแพงแสน และขยายเครือข่ายความร่วมมือของเกษตรกร กลุ่มเกษตรกร และชุมชนพื้นที่ภายใต้การดำเนินงานของสำนักฯ และคณะต่าง ให้เป็นวงกว้างขึ้น มีการนำผลงานวิจัย ผลงานสร้างสรรค์ งานบริการวิชาการและผลงานด้านอื่นๆ เผยแพร่แก่นิสิต บุคลากรและประชาชนทั่วไป เป็นการเพิ่มช่องทางการเข้าถึงแหล่งองค์ความรู้ภายในมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ รูปแบบการจัดกิจกรรม คือ
1) การจัดหาแหล่งอาหารที่ดีตอสุขภาพและราคาไมแพง ส่งต่อให้บุคลากรในมหาวิทยาลัยอย่างทั่วถึง ผ่านการออกร้านเพื่อจำหน่ายสินค้าเกษตร ภายใต้ชื่อ ตลาดนัด KU URS สัญจร มีกำหนดจัดทุกวันศุกร์สิ้นเดือนๆ ละ 1 ครั้ง โดยเริ่มครั้งแรกเมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2566 ที่คณะเกษตร กำแพงแสน และจะสัญจรไปคณะศึกษาศาสตร์และพัฒนศาสตร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ กำแพงแสนคณะศิลปศาสตร์และวิทยาศาสตร์ สำนักงานบริหารจัดการทรัพยากรการเรียนรู้ (สำนักหอสมุด) คณะสัตวแพทยศาสตร์ และคณะวิทยาศาสตร์การกีฬาตามลำดับ
2) การบูรณาการงานวิชาการ บริการวิชาการ เผยแพร่ความรู้ ในรูปแบบต่างๆ อาทิ
2.1 คณะศึกษาศาสตร์และพัฒนศาสตร์ นำนิสิตช่วยออกแบบและพัฒนาบรรจุภัณฑ์ให้กับกลุ่มเกษตรกรห้วยกระเจา จังหวัดกาญจนบุรี
เกิดบรรจุภัณฑ์ใหม่ที่สวยงามและทันสมัย มีการให้คำแนะนำด้านการประชาสัมพันธ์ การเพิ่มช่องทางการตลาดออนไลน์ ส่งผลให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น
2.2 คณะสัตวแพทยศาสตร์ จัดกิจกรรมการทำขนมสำหรับเป็นอาหารของสุนัขและแมว โดยได้รับความสนใจจากบุคลากรมหาวิทยาลัย นิสิต และประชาชนทั่วไปในการเข้าร่วมกิจกรรม จากการประเมินการนำความรู้ไปใช้ประโยชน์ ผู้เข้าร่วมกิจกรรม ร้อยละ 100 จะนำความรู้ที่ได้รับไปทำขนมให้กับสัตว์เลี้ยงของตนเอง
2.3 คณะวิทยาศาสตร์การกีฬา ร่วมจัดกิจกรรมพิเศษการตรวจวัดร่างกายด้วยเครื่องตรวจ Inbody โดยมีบุคลากรมหาวิทยาลัย นิสิต และประชาชนทั่วไปสนใจเข้าตรวจวัดร่างกาย นิสิตมีส่วนร่วมในการจัดกิจกรรมการนันทนาการสร้างความสนุกสนานให้กับผู้เข้าร่วมงาน
2.4 สำนักงานบริหารจัดการทรัพยากร การเรียนรู้ (สำนักหอสมุด) ร่วมกับสำนักส่งเสริมฯ กำแพงแสน จัดกิจกรรมส่งเสริมการเรียนรู้
"ศิลป์สร้างสุข" โดยมี 5 ฐานกิจกรรม ประกอบด้วย ฐานเยี่ยมชมวิทยาเขต ฐานเยี่ยมชมหอประวัติ ฐานการคัดแยกขยะ ฐานการทำพวงกุญแจ และฐานศิลปะสร้างสรรค์ ได้รับความสนใจจากกลุ่มโรงเรียน อาทิ โรงเรียนวัดหนองศาลา โรงเรียนบ้านรางอีเม้ย โรงเรียนหนองงูเหลือม และโรงเรียนบ้านดอนซาก โดยมีจำนวนครูและนักเรียนที่เข้าร่วมกิจกรรมดังกล่าวมากกว่า 400 คน
2.5 คณะเกษตร กำแพงแสน ร่วมกับสำนักส่งเสริมและฝึกอบรม กำแพงแสน จัด 1) กิจกรรมถ่ายทอดองค์ความรู้การทำเชื้อไตรโคเดอร์ม่า ให้กับกลุ่มเกษตรกรบ้านหนองไม้งาม ต.ทุ่งลูกนก อ.กำแพงแสน 2) กิจกรรมการวิเคราะห์ดิน 3) กิจกรรมการเก็บเมล็ดพันธุ์และกิจกรรมการผลิตผักปลอดภัยให้กับกลุ่มเกษตรกรชุมชนหนองงูเหลือม 4) กิจกรรมการพัฒนา บรรจุภัณฑ์ให้กับกลุ่มเกษตรกรตำบลห้วยขวาง ตำบลทุ่งลุกนก และกลุ่มเกษตรกรรุ่นใหม่ภาคตะวันตก ส่งผลให้เกษตรกร กลุ่มเกษตรกร และชุมชนมีการผลิตที่ได้มาตรฐาน โดยร้อยละ 100 ของเกษตรกรที่เข้าร่วมกิจกรรมเข้าสู่การขอมาตรฐาน GAP และกว่าร้อยละ 90 ผ่านมาตรฐาน การปลูกผัก GAP ส่งผลให้ช่องทางการตลาดขยายเพิ่มมากขึ้น โดยมีคำสั่งซื้อจาก โรงพยาบาลนครปฐม เครือโรงพยาบาลเซนต์หลุย มีการเข้าถึงงาน OTOP รวมถึงการเข้าร่วมกิจกรรมที่จัดขึ้นของหน่วยงานภาครัฐและเอกชน
2.6 คณะวิศวกรรมศาสตร์ กำแพงแสน ร่วมกับสำนักส่งเสริมและฝึกอบรม กำแพงแสน ในการถ่ายทอดความรู้เรื่องการบริหารจัดการน้ำ
การใช้ระบบ IoT ในการเพาะปลูกพืช และการใช้ระบบโซล่าเซลล์ ให้กับเกษตรกรตำบลห้วยขวางและตำบลทุ่งลูกนก ส่งผลให้เกษตรกรมีการบริหารจัดการน้ำได้มีประสิทธิภาพและลดต้นทุนในการเพาะปลูกได้กว่า 10% จากการลดการใช้พลังงาน (ไฟฟ้า น้ำมันเชื้อเพลิง แรงงาน)
ผลลัพธ์ด้านชุมชนและสังคม เกษตรกร กลุ่มเกษตรกรและชุมชนที่เข้าร่วมกิจกรรมดังกล่าว มีช่องทางการจำหน่ายผลผลิตของตนเอง ตลอดจนสามารถสร้างช่องทางการจำหน่ายได้เพิ่มมากขึ้น โดยผ่านการซื้อขายสินค้าจากกิจกรรมดังกล่าว และการเข้าร่วมกิจกรรมที่มหาวิทยาลัยได้จัดขึ้น ส่งผลให้ผลผลิตของเกษตรกร กลุ่มเกษตรกรและชุมชน เป็นที่รู้จักของกลุ่มลูกค้าภายนอกมากยิ่งขึ้น นำมาสู่การแลกเปลี่ยนซื้อขายสินค้าที่เป็นมูลค่าสูงตามมา บุคลากรของมหาวิทยาลัยได้บริโภคสินค้าที่ปลอดภัยและราคาย่อมเยาว์ และบุคลากรบางส่วนสามารถสร้างรายได้เสริมจากการเข้าร่วมกิจกรรมโดยการออกบูธจำหน่ายสินค้า เช่น การจำหน่ายของที่ระลึกของคณะสัตวแพทยศาสตร์ การเข้าร่วมออกร้านจำหน่ายอาหารของคณะศิลปศาสตร์และวิทยาศาสตร์และสำนักงานบริหารจัดการทรัพยากรการเรียนรู้ เป็นต้น
ผลลัพธ์ด้านเศรษฐกิจ การจัดกิจกรรมดังกล่าว ดำเนินการมาแล้ว 7 ครั้ง สามารถสร้างรายได้ให้แก่ร้านค้าที่เข้าร่วมกิจกรรมทั้งสิ้น 737,539 บาท มีร้านค้าที่เข้าร่วมกิจกรรมในแต่ละครั้งมีจำนวนมากกว่า 50 ร้าน ซึ่งมีทั้งร้านค้าที่เป็นเครือข่ายจากสำนักส่งเสริมและฝึกอบรม กำแพงแสน และจากคณะต่างๆ ที่ให้ความสนใจ สำหรับผู้รับบริการเฉลี่ยครั้งละ 232 คน (1,621 คน) เกิดเครือข่ายกลุ่มผู้ค้า “มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ช่วยเกษตรกร เกษตรกรช่วยผู้บริโภค (KU USR)” โดยมีการรวมตัวกันในการจำหน่ายสินค้านอกพื้นที่ อาทิ กิจกรรมธงฟ้าของกระทรวงพานิชย์ กิจกรรมตลาดสินค้าเกษตรของจังหวัดนครปฐม เกิดความร่วมมือกับร้านเกษตรอภิรมย์ คณะเกษตร กำแพงแสน ร่วมจัดกิจกรรมจำหน่ายสินค้าทุกวันอังคาร